กายภาพบำบัด...ไม่เหมือนนวดแผนไทย
การแก้อาการปวดเมื่อยเรื้อรังด้วยวิธีกายภาพบำบัดเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็อาจยังไม่เป็นนิยมมากเท่ากับการนวดแผนไทย อาจจะด้วยเรื่องของจำนวนธุรกิจที่เปิดกันอย่างหนาแน่น และค่าใช้จ่ายในการใช้บริการที่มีราคาถูกกว่าเพราะคิดเป็นรายชั่วโมง ไม่เหมือนกับการทำกายภาพบำบัดที่จะคิดราคาตามจำนวนเครื่องมือหรือขั้นตอนที่ใช้รักษาในแต่ละครั้ง
ในขั้นตอนการรักษาทางกายภาพบำบัดจะมีการใช้วิธีหัตถการ หรือเทคนิคการรักษาด้วยมือ (Manual Technique) เข้ามารักษาร่วมด้วย คือการดึง ดัด จัดกระดูก และข้อต่อต่างๆ ซึ่งท่าทางก็อาจจะมีความคล้ายคลึงกับท่าทางการนวดแผนไทย จึงทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดไปว่า นักกายภาพบำบัดนั้นก็คือ หมอนวดปริญญานี่เอง
แต่แท้จริงแล้วการรักษาด้วยวิธีหัตถการ (Manual Technique) นั้นเป็นเพียงแค่ส่วนเล็กๆ ของการรักษาทางกายภาพบำบัดเท่านั้น หากคิดเป็นสัดส่วนจะประมาณ 20% ของการรักษาทั้งหมด ส่วนอีก 80% จะเป็นการรักษาด้วยเครื่องมืออันทันสมัยทางกายภาพบำบัด ซึ่งสัดส่วนการรักษานี้ก็ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละรายด้วย
ความหมายของการนวด (Massage)
คือการจัดระเบียบร่างกายรูปแบบหนึ่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย และช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยเหนื่อยล้าได้ ซึ่งเน้นการกระตุ้นการทำงานของเส้นเลือด กล้ามเนื้อ และต่อมต่างๆ ของร่างกายให้ทำงานดีขึ้น ซึ่งต้องใช้มือ หรืออุปกรณ์เสริมในการบีบ คลึง รีดเส้น เหยียบ ยัน กดจุด ดัด หรือกระตุ้นด้วยการสั่น
เทคนิคการนวด (Massage) ของนักกายภาพบำบัดเป็นเพียงส่วนเล็กๆของการรักษาทางกายภาพบำบัดเท่านั้น หากลงลึกไปในส่วนของการรักษาด้วยหัตถการ ก็จะทราบว่ามีความแตกต่างกับการนวดแผนไทยอย่างสิ้นเชิง เพราะนักกายภาพบำบัดต้องเรียนเกี่ยวกับกายวิภาคศาสตร์ (Anatomy) เรียนรู้โครงสร้างภายในของมนุษย์อย่างละเอียดไม่แพ้การเรียนแพทย์เลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นระบบข้อต่อต่างๆ ระบบกระดูก กล้ามเนื้อ และระบบประสาท เพื่อจะสามารถวินิจฉัย และรักษาอาการของผู้ป่วยได้อย่างเชี่ยวชาญ โดยการรักษาทางกายภาพบำบัดจะเน้นการใช้เครื่องมือทางกายภาพร่วมกับเทคนิคการออกกำลังกายที่นักกายภาพแนะนำให้คนไข้สามารถไปปฏิบัติด้วยตนเองได้ โดยจะคำนึงถึงอาการ และโรคของคนไข้แต่ละราย