กว่าจะมาเป็น “นักกายภาพบำบัด” อีกหนึ่งผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์
หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าวิชาชีพนักกายภาพบำบัด เป็นวิชาชีพที่มีความสำคัญต่อระบบสาธารณสุข และเป็นที่นิยมระดับโลก เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ถือว่าเป็นวิชาชีพที่ก้าวขึ้นมาอยู่ในอันดับต้นๆ เพราะสามารถรักษาผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องทานยา ไม่ต้องฉีดยา และไม่ต้องผ่าตัด แต่ในประเทศไทยยังคงขาดแคลนวิชาชีพด้านนี้อยู่มาก และผู้ป่วยเองก็ยังขาดความเข้าใจในสายวิชาชีพนี้อยู่ไม่น้อย
นักกายภาพบำบัด กับการทำกายภาพบำบัด คืออะไร
“กายภาพบำบัด” เป็นวิชาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน รักษา และจัดการเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ที่เกิดขึ้นจากสภาพและภาวะของโรค ซึ่งสามารถเกิดขึ้นในทุกช่วงของชีวิต โดยจะนำเอาหลักฟิสิกส์มาใช้เพื่อการรักษา และความรู้เกี่ยวกับระบบโครงสร้างภายในของมนุษย์อย่างละเอียด จึงจำเป็นต้องเรียนวิชากายวิภาคศาสตร์ (Anatomy) โดยในระหว่างการศึกษาจะต้องมีการผ่าร่างอาจารย์ใหญ่เพื่อศึกษาโครงสร้างระบบประสาท กล้ามเนื้อ และกระดูก เพื่อที่จะสามารถวินิจฉัยอาการได้อย่างแม่นยำ และบำบัดผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพกายภาพบำบัด พ.ศ. 2547 ได้ให้ความหมายของวิชาชีพกายภาพบำบัดไว้ว่า "เป็นวิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจประเมิน การวินิจฉัย และการบำบัดความบกพร่องของร่างกาย ซึ่งเกิดเนื่องจากภาวะของโรคหรือการเคลื่อนไหวที่ไม่ปกติ การป้องกัน การแก้ไขและการฟื้นฟูการเสื่อมสภาพความพิการของร่างกาย รวมทั้งการส่งเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจ ด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัด หรือการใช้อุปกรณ์ทางกายภาพบำบัด"
หลักสูตรการเรียนกายภาพบำบัด
หลักสูตรการศึกษาระดับปริญญาบัณฑิตในประเทศไทย ใช้เวลาศึกษา 4 ปี
คณะ/สาขาที่ต้องเรียน
คณะสหเวชศาสตร์ สาขาวิชากายภาพบำบัด
คณะเทคนิคการแพทย์ สาขาวิชากายภาพบำบัด
คณะกายภาพบำบัด สาขาวิชากายภาพบำบัด
สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สาขาวิชากายภาพบำบัด
คณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ สาขาวิชากายภาพบำบัด
หลักสูตรวิชาที่ต้องเรียน
วิชาพื้นฐาน เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา เคมีอินทรีย์
วิชาเฉพาะทางการแพทย์พื้นฐาน เช่น มหกายวิภาคศาสตร์ ประสาทกายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา พยาธิวิทยา จิตวิทยา จริยธรรมทางการแพทย์
วิชาเฉพาะทางกายภาพบำบัด เช่น วิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหว การวินิจฉัยและรักษาด้วยไฟฟ้า เป็นต้น
ตลอดหลักสูตรการศึกษานักศึกษาจะต้องฝึกเพิ่มพูนความชำนาญในแต่ละขอบเขต เช่น ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ เป็นต้น และจะต้องทำการฝึกปฏิบัติการทางคลินิกเป็นระยะเวลาสั้นๆ สลับกับการเรียนในมหาวิทยาลัยจนจบหลักสูตร
การประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัด
ภายหลังจากจบหลักสูตรแล้ว นักศึกษาจะต้องผ่านการสอบประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัดต่อสภากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย จึงจะมีสิทธิเข้าทำการให้การรักษา หรือฟื้นฟูต่อผู้ป่วยด้วยวิธีทางกายภาพบำบัด และสามารถใช้คำนำหน้าชื่อ กภ. ในการปฏิบัติงานได้ และจะนักกายภาพบำบัดจะต้องมีการต่อใบประกอบวิชาชีพทุกๆ 5 ปี และต้องมีการศึกษาหาความรู้อย่างต่อเนื่อง โดยการเข้าอบรม เก็บคะแนน เนื่องจากวิทยาการทางการแพทย์มีการพัฒนามากขึ้นอยู่ตลอดเวลา
แหล่งข้อมูลจาก : สมาคมกายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย
https://th.wikipedia.org
http://www.admissionpremium.com