top of page

3 ท่าบริหารหลัง ป้องกัน “หมอนรองกระดูกทับเส้น”


โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท มักพบในผู้สูงอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป แต่ในปัจจุบันเริ่มตรวจพบในวัยทำงานมากขึ้น ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากการเสื่อมสภาพของหมอนรองกระดูกสันหลังตามอายุ การกดทับจากน้ำหนักตัวที่มาก และอิริยาบถที่ผิดท่าซ้ำๆ กันเป็นเวลานาน เช่น ยกของหนัก นั่งนานๆ และก้มๆ เงยๆ เป็นประจำ ทำให้หมอนรองกระดูกอักเสบ จนเยื่อหุ้มเนื้อหมอนรองกระดูกฉีกขาด และหมอนรองกระดูกปลิ้นออก จนไปกดทับเส้นประสาทบริเวณรอบแนวกระดูกสันหลัง ดังนั้นหากผู้ป่วยรู้สึกปวดหลังร้าวลงขาทั้งสองข้าง หรือข้างใดข้างหนึ่ง เวลาก้ม ไอ หรือจาม มักรู้สึกเจ็บเสียวที่หลังจนทนไม่ไหว ควรรีบไปพบแพทย์ หรือนักกายภาพบำบัด เพื่อทำการรักษาต่อไป ไม่ควรปล่อยไว้จนอาการหนัก เพราะจะใช้ระยะเวลาในการรักษานานขึ้น หรืออาจถึงขั้นต้องเข้ารับการผ่าตัดได้

ในการรักษาโรคนี้ด้วยวิธีกายภาพบำบัด นอกเหนือจากการใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดแล้ว นักกายภาพบำบัดก็จะแนะนำท่าบริหารให้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทนำกลับไปบริหารอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้หมอนรองกระดูกกลับเข้าที่ได้เร็วขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ท่าบริหาร 3 ท่านี้ ผู้ป่วยโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทควรได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องจากนักกายภาพบำบัดเสียก่อน จึงจะสามารถทำได้ เพราะอาจเสี่ยงให้เกิดการบาดเจ็บมากขึ้นได้ และสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังเล็กน้อยก็สามารถบริหารตามได้ เพื่อป้องกันโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท และยังช่วยแก้อาการปวดหลังได้อีกด้วย

3 ท่า บริหารให้หมอนรองกระดูกกลับเข้าที่

ท่าที่ 1

  • นอนคว่ำตัวตรง เงยศีรษะขึ้นเล็กน้อย ตั้งศอกเหยียดแขนไปข้างหน้า วางแนบพื้น

  • ใช้ผ่ามือดันตัวขึ้น ให้แขนตึงมากที่สุด ควรทำเท่าที่ทำได้ ไม่ควรฝืนจนรู้สึกเจ็บ

  • ค่อยๆเลื่อนฝ่ามือเข้าหาลำตัวเท่าที่ทำได้ เงยหน้า แอ่นหลังให้ได้มากที่สุด ค้างไว้ 10วินาที

  • ค่อยๆ ย่อศอกลงสองข้างพร้อมกับวางตัวราบกับพื้น

  • ทำทั้งหมด 10 ครั้ง

ท่าที่ 2

  • ตั้งเข่า และมือให้ขนานกับหัวไหล่ คล้ายกับท่าคลาน

  • โน้มตัวไปด้านหลัง แขนตึงให้ได้มากที่สุด พร้อมกับค่อยๆ ก้มศีรษะลง ควรทำเท่าที่ทำได้ ไม่ควรฝืนจนรู้สึกเจ็บ

  • ค้างไว้ 10 วินาที ทำทั้งหมด 10 ครั้ง

ท่าที่ 3

  • ตั้งเข่า และมือให้ขนานกับหัวไหล่ คล้ายกับท่าคลาน

  • ค่อยๆ โก่งหลังขึ้นพร้อมกับหายใจเข้าให้ได้มากที่สุด ไม่ควรฝืนจนรู้สึกเจ็บ ค้างไว้ 10 วินาที ทำทั้งหมด 10 ครั้ง

  • แอ่นหลังให้ก้นโด่งขึ้นพร้อมกับหายใจออก ให้ได้มากที่สุด ไม่ควรฝืนจนรู้สึกเจ็บ ค้างไว้ 10 วินาที ทำทั้งหมด 10 ครั้ง

Featured Posts
Recent Posts
Search By Tags
bottom of page