ไมเกรน ปีศาจร้าย 4.0
ในขณะที่ความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี และความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น กลับเกิดปีศาจร้ายน่ากลัวและเป็นภัยต่อมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน หนึ่งในนั้นก็คือ “โรคไมเกรน” แม้ไมเกรนอาจไม่ได้เป็นปีศาจร้ายตัวใหม่ แต่เป็นปีศาจตัวเก่าที่เพิ่มจำนวน เพิ่มความร้ายกาจมากขึ้น เพราะสังคมที่มีความเจริญมักมาพร้อมกับความกดดัน และความเครียดเช่นกัน
อาการปวดศีรษะไมเกรน สาเหตุที่แท้จริงของอาการปวดไมเกรนยังไม่มีการระบุที่แน่ชัด แต่พบว่าสมองของผู้ป่วยที่เป็นไมเกรนมีความไวในการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งอาจจะอยู่นอกร่างกาย หรืออยู่ภายในร่างกาย ทำให้หลอดเลือดมีการอักเสบ เมื่อหลอดเลือดขยายจึงปวดศีรษะ และมีสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดหลั่งออกมาโดยมีปัจจัยภายนอกเข้ามากระตุ้นร่วมด้วย
วิธีเช็คอาการปวดไมเกรน
มีอาการอ่อนแรงของแขนข้างใดข้างหนึ่งเป็นระยะเวลาสั้นๆ หรือบางคนอาจเวียนศีรษะ หลังจากนั้นประมาณครึ่งชม. และจะมีอาการปวดศีรษะตามมา
มีอาการปวดศีรษะร่วมกับหนังตาตก เห็นภาพซ้อน
ก่อนปวดศีรษะ ผู้ป่วยจะมีอาการเวียนศีรษะ ทรงตัวไม่ได้
มีอาการปวดศีรษะนานกว่า 72 ชม. และมีอาการปวดมากกว่าปกติ
ปวดจากกระบอกตา ร้าวไปด้านหลัง
ปวดระยะสั้นๆ เป็นๆ หายๆ
มีอาการอาเจียนร่วมด้วย
สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดไมเกรน
แสงแดดแรงๆ อาการร้อนจัด หนาวจัด
ความเครียดจากการทำงาน
นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ นอนหลับๆ ตื่นๆ
นั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือมือถือสมาร์ทโฟนติดต่อกันเป็นเวลานาน
ทานอาหารไม่ตรงเวลา ขาดน้ำตาล
อาหารที่มีไทรามีน (Tyramine) สูง พบได้มากในอาหารพวก เนย ชีส ช็อคโกแลต กล้วยสุก ส้ม ไวน์แดง เป็นต้น อย่างไรก็ตามไม่ใช่คนที่เป็นไมเกรน จะตอบสนองต่ออาหารที่มีไทรามีนทุกคน
ภาวะรอบประจำเดือน
การชาร์จสมาร์ทโฟนใกล้บริเวณศีรษะ ทำให้คลื่นกระแสไฟฟ้าแพร่กระจายเข้าสู่สมอง
รักษาไมเกรนได้โดยไม่ต้องใช้ยา
อาการปวดศีรษะไมเกรนสามารถบำบัดได้ด้วยวิธีทางกายภาพบำบัด เพื่อบรรเทาอาการปวดให้ลดน้อยลง โดยใช้เครื่องมือทางกายภาพที่ทันสมัยเข้าบริหารกล้ามเนื้อคอและบ่า เพราะพบว่าผู้ป่วยไมเกรนส่วนใหญ่กล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ทั้งสองข้างมีอาการเกร็ง การรักษานี้จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย และลดอาการปวดศีรษะได้ โดยไม่จำเป็นต้องทานยา แต่ในการรักษาต้องมีความต่อเนื่อง ระยะเวลาในการรักษาก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการปวด
การรักษาไมเกรนให้ได้ผลดี ผู้ป่วยจะต้องทราบถึงสาเหตุที่กระตุ้นให้ปวดศีรษะ เพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นเหล่านั้นด้วย และสามารถทำกายภาพบำบัดร่วมกับการรักษาของแพทย์ได้