top of page

ออฟฟิศซินโดรม โรคสุดฮิตของพนักงานออฟฟิศ เกิดจากอะไร มีวิธีแก้ไขและบรรเทาอาการอย่างไร




ปัจจุบัน โรคออฟฟิศซินโดรม เป็นหนึ่งในอาการที่คนส่วนใหญ่เริ่มเป็นกันมากขึ้น เนื่องจากวิถีชีวิตการทำงานที่หนักหน่วง ความเครียดสูง และมีความเร่งรีบ ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่นั่งทำงานในลักษณะท่าทางที่ไม่เหมาะสมเป็นระยะเวลานาน และมักไม่ค่อยได้ใส่ใจดูแลเรื่องของสุขภาพตนเองมากนัก

แน่นอนว่า ส่วนใหญ่แล้ว กลุ่มคนที่มีโอกาสเป็นออฟฟิศซินโดรมสูง ได้แก่ พนักงานออฟฟิศ พนักงานขับรถ พนักงานขายที่ต้องยืนตลอดทั้งวัน ฟรีแลนซ์ ฯลฯ ซึ่งมักจะมีสัญญาณเตือนออฟฟิศซินโดรมต่างๆจากร่างกายมาก่อน

แล้วแบบนี้ ออฟฟิศซินโดรมอาการ การรักษาเป็นอย่างไร สามารถใช้วิธีออฟฟิศซินโดรมกายภาพบำบัด หรือ มีท่าบริหารออฟฟิศซินโดรมง่ายๆ ที่ช่วยแก้ไขอาการเหล่านี้ได้ไหม? มาค้นหาคำตอบไปกับสรีรารักได้ที่นี่



ออฟฟิศซินโดรม คือ


“ออฟฟิศซินโดรมคืออะไร?” ออฟฟิศซินโดรม คือ โรคที่มักพบได้บ่อยในกลุ่มวัยทำงาน ที่มีพฤติกรรมการทำงานไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นลักษณะท่าทางการนั่งทำงาน การใช้กล้ามเนื้อบางส่วนอย่างหนักและเป็นเวลานาน รวมไปจนถึงสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เอื้ออำนวยต่อสุขภาพ เช่น ลักษณะโต๊ะทำงาน เก้าอี้ที่ใช้ในการนั่งทำงาน แสงสว่าง ฯลฯ


จนทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยส่วนต่างๆของร่างกาย และอาการของโรคอื่นๆตามมา ได้แก่ กล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง นิ้วล็อก เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ ปวดหลัง ฯลฯ



ออฟฟิศซินโดรม อาการ


อาการออฟฟิศซินโดรม มีดังต่อไปนี้

  • เกิดอาการปวดเรื้อรัง ปวดคอ บ่า ไหล่ สะบักหลัง สะโพก

  • เหงื่อออก ตาพร่า หูอื้อ มึนงง

  • ออฟฟิศซินโดรมอาการปวดหัวเรื้อรัง หรือไมเกรนก็เป็นได้

  • ปวดตา หรือ ตาแห้ง เนื่องจากใช้สายตามากจนเกินไป

  • เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ บริเวณหัวไหล่ ข้อศอก ข้อมือ เข่า ข้อเท้า

  • มีการกดทับปลายประสาท ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีอาการชาที่บริเวณบางส่วนของร่างกาย

  • เกิดโรคบางอย่างขึ้น เช่น นิ้วล็อค พังผืดทับเส้นประสาทข้อมือ ฯลฯ


สัญญาณเตือนออฟฟิศซินโดรม


หลายๆคนอาจสงสัยว่า “เราสามารถสังเกตตนเองได้อย่างไรบ้าง ว่ากำลังจะเป็นออฟฟิศซินโดรม” เพื่อที่จะรักษาได้ตรงจุดและทันท่วงที

ในความเป็นจริงแล้ว มีสัญญาณเตือนออฟฟิศซินโดรมจากร่างกาย ที่คุณสามารถสังเกตก่อนเกิดโรคได้ ดังนี้

  • มีอาการปวดเรื้อรัง ปวดล้า หรือปวดร้าว ในบริเวณส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น ปวดหลัง ปวดหัว ปวดตา คอ ไหล่ นิ้วมือ หลัง สะโพก ฯลฯ

  • ออฟฟิศซินโดรมอาการในบางราย อาจมีอาการปวด แต่ไม่สามารถระบุจุดที่ปวดได้ เนื่องจากปวดบริเวณกว้าง

  • มีอาการเหน็บชา โดยเฉพาะบริเวณขา

  • มีอาการตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัดเจน ขณะทำงาน

กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงจะเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม

  • พนักงานออฟฟิศ เนื่องจากมีการขยับตัวค่อนข้างน้อย และนั่งอยู่ในลักษณะท่าทางเดิมนานจนเกินไป

  • อาชีพที่มีการใช้แรงงานเป็นประจำ หรือใช้แรงงานเป็นหลัก มีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้หลายเหตุการณ์ เช่น การยกของไม่ถูกท่า หรือการยกของที่มีน้ำหนักมากจนเกินไป

  • นักกีฬา หรือผู้ที่มีการเล่นกีฬาเป็นประจำ เพราะอาจมีการออกแรงมากจนเกินไป ใช้กล้ามเนื้ออย่างหนักบริเวณใดบริเวณหนึ่งนานๆ หรือกล้ามเนื้อและกระดูกได้รับการบาดเจ็บอย่างเฉียบพลัน

  • พนักงานขาย เนื่องจากมีการยืนอยู่ท่าเดิมเป็นเวลานาน ในบางรายมีการใส่ส้นสูง ซึ่งอาจทำให้เกิดการปวดเมื่อยหรือเกร็งกล้ามเนื้อ

  • ฟรีแลนซ์ที่มีการใช้สายตามองหน้าจอเป็นระยะเวลานาน อีกทั้งในบางรายอาจมีการนอนพักผ่อนที่ไม่เพียงพอเกิดขึ้น


วิธีแก้ออฟฟิศซินโดรม


รู้หรือไม่? เราสามารถแก้ออฟฟิศซินโดรมได้ด้วยตนเองเบื้องต้น จากการทำสิ่งต่างๆเหล่านี้

  1. ใช้อุปกรณ์ที่สามารถช่วยเหลืออาการปวดหรือเมื่อยล้า เช่น การทาครีมแก้ปวด แปะแผ่นเจลประคบบริเวณที่มีอาการปวด

  2. ยืดกล้ามเนื้อเป็นระยะ มีการยืดกล้ามเนื้อในบริเวณที่มักจะปวดบ่อยๆ เพื่อลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ และช่วยทำให้กล้ามเนื้อไม่ถูกใช้งานหนักเป็นเวลานาน

  3. ปรับพฤติกรรมและสภาพแวดล้อม สังเกตตนเองว่ามีพฤติกรรมใดที่เป็นปัญหา หรือเป็นต้นเหตุ เช่น ลักษณะท่านั่งที่ไม่เหมาะสม การใช้กล้ามเนื้อบางส่วนที่มากจนเกินไปเป็นระยะเวลานาน หรือเก้าอี้ไม่เหมาะสมกับสรีระร่างกาย ระดับโต๊ะหรือการตั้งวางจอคอมพิวเตอร์

  4. การออกกำลังกาย การออกกำลังกายออฟฟิศซินโดรม มีความสัมพันธ์กัน การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยให้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆมีความแข็งแรงขึ้น เกิดความยืดหยุ่น ลดอาการเมื่อยล้า ความตึงเครียดของกล้ามเนื้อได้ โดยกิจกรรมการออกกำลังกาย ได้แก่ การปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ พิลาทิส หรืออย่าง โยคะแก้ออฟฟิศซินโดรมก็สามารถทำได้


ออฟฟิศซินโดรม รักษาได้อย่างไร


คำถามยอดฮิตที่คนส่วนใหญ่มักอยากรู้หลังจากเริ่มมีอาการนำมาเบื้องต้นแล้ว ก็คือ ออฟฟิศซินโดรม รักษาได้อย่างไร? มีวิธีการอะไรบ้าง? แท้ที่จริงแล้วออฟฟิศซินโดรมรักษาได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นวิธีการใช้เทคโนโลยีจัดกระดูกสันหลัง การนวดแผนไทย การฝังเข็ม การใช้ยา หรือวิธีที่มักได้รับความนิยมไม่แพ้กันกับศาสตร์อื่นๆ ก็คือ “การกายภาพบำบัดออฟฟิศซินโดรม”

ออฟฟิศซินโดรมกายภาพบำบัด เป็นการที่นักกายภาพบำบัดทำการประเมินอาการและระดับความรุนแรงของแต่ละบุคคล เพื่อเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม พร้อมทั้งให้คำแนะนำถึงการปรับเปลี่ยนท่านั่ง และการทำงานของกล้ามเนื้อต่างๆ ซึ่งในศาสตร์ของกายภาพบำบัด มีวิธีการรักษา การทำกายภาพบำบัด ดังนี้


การรักษาโดยใช้คลื่นกระแทก (Shockwave)


การกายภาพออฟฟิศซินโดรม โดยการใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดที่เรียกว่า คลื่นกระแทก(Shockwave) เป็นการรักษาอาการปวดเรื้อรัง ซึ่งมีวิธีการคือ การส่งคลื่นกระแทกเข้าไปยังบริเวณที่กล้ามเนื้อเกิดการบาดเจ็บ ปวดเมื่อย เพื่อกระตุ้นการบาดเจ็บใหม่ ส่งผลให้ร่างกายซ่อมแซมตนเองและเกิดการสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นอีกครั้ง

อีกทั้งวิธีการนี้ยังช่วยในเรื่องของการเพิ่มการไหลเวียนเลือด การลดอาการปวด อักเสบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาการอักเสบเรื้อรังของเอ็น พังผืดต่างๆ หรือการปวดจากอาการกล้ามเนื้อหดเกร็ง (Myofascial pain syndrome)


การกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า (Electrical Stimulation)


กายภาพบำบัดออฟฟิศซินโดรมโดยการใช้วิธีกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า คือการใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นกลุ่มกล้ามเนื้อแต่ละมัด รวมไปจนถึงเส้นประสาท เพื่อก่อให้เกิดการทำงานของกล้ามเนื้อ ลดการเกร็งตัว กระตุ้นการฟื้นตัวของปลายประสาท การไหลเวียนเลือด และชะลอการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อได้


การรักษาด้วยเลเซอร์กำลังสูง (High Power Laser Therapy)


การรักษาด้วยเครื่องเลเซอร์กำลังสูง คือ การปล่อยแสงเข้าสู่ชั้นเนื้อเยื่อ เพื่อกระตุ้นให้เนื้อเยื่อเหล่านั้น เกิดการซ่อมแซมบริเวณที่ได้รับการบาดเจ็บ วิธีนี้สามารถช่วยลดอาการปวดที่เกิดขึ้นในระยะเฉียบพลัน บริเวณที่มีการอักเสบ หรือการปวดเรื้อรังได้


การกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Peripheral Magnetic Stimulation)


การกระตุ้นด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า คือ นักกายภาพบำบัดจะทำการรักษาโดยการวางเครื่องไว้ที่แขนหรือขาส่วนปลาย หรือเคลื่อนไปยังบริเวณส่วนต่างๆที่ต้องการรักษา ซึ่งวิธีการนี้ช่วยกระตุ้นให้เกิดการซ่อมแซมของเนื้อเยื่อและรากประสาท ลดอาการปวดกล้ามเนื้อ อาการชาปลายนิ้วมือหรือปลายเท้า และเร่งการฟื้นตัวของเส้นประสาทที่บาดเจ็บได้


การดึงคอและกระดูกสันหลัง(Electric Traction Machine)


การดึงคอและกระดูกสันหลังไฟฟ้า คือ เครื่องมือที่สามารถช่วยดึงกระดูกเพื่อเพิ่มช่องของกระดูกคอและสันหลังได้นานอย่างต่อเนื่อง ลดการกดทับของเส้นประสาทได้ เหมาะสำหรับบางรายที่เป็นโรคออฟฟิศซินโดรมและมีภาวะกล้ามเนื้อคอ หลังเกร็งตัว มีอาการปวดหรือชาจากการกดทับของเส้นประสาท หรือแม้แต่ผู้ที่มีภาวะหมอนรอบกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทหรือกระดูกสันหลังเสื่อม ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน


การอัลตราซาวด์(Ultrasound)


การใช้เครื่องอัลตราซาวด์ คือ ใช้คลื่นเหนือเสียงความถี่สูง โดยการเปลี่ยนพลังงานกลเป็นพลังงานความร้อนเข้าสู่ชั้นเนื้อเยื่อ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ ลดความเจ็บปวด การอักเสบทั้งแบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรังของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เยื่อหุ้มข้อต่างๆ สามารถปรับความต่อเนื่องของคลื่น และระดับความเข้มของคลื่นได้



ท่าบริหารออฟฟิศซินโดรม


แน่นอนว่า ไม่มีใครคนไหนที่อยากเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม แต่ในบางครั้งคนเราก็มีความจำเป็นที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงได้ อันเนื่องมาจากการทำงาน การประกอบอาชีพต่างๆ ดังนั้น ทางสรีรารักจึงได้เตรียมท่าออกกำลังกายออฟฟิศซินโดรมหรือท่าบริหารแก้ออฟฟิศซินโดรมดีๆมาให้ทุกคนได้ลองทำกันดู ดังนี้


  • ท่าที่ 1

ท่านี้สามารถทำได้อย่างง่ายดาย เพียงแค่คุณนั่งหลังตรง เริ่มจากการเอียงข้างประมาณ 45 องศาไปทางด้านซ้าย และใช้มือขวากดศีรษะค้างไว้จนรู้สึกตึงประมาณ 5-10 วินาที ทำต่อเนื่องกัน 5 ครั้ง และเปลี่ยนการเอียงข้างไปทางด้านขวา ใช้มือซ้ายในการกดศีรษะค้างไว้อีกประมาณ 5-10 วินาทีเช่นเดียวกัน

  • ท่าที่ 2

ท่านี้ให้คุณนั่งหลังตรง นำมือทั้ง 2 ข้างประสานกันไว้ที่ข้างหลัง จากนั้นใช้แรงยืดหัวไหล่เพื่อให้สะบักหลังเข้าหากัน และค้างไว้ประมาณ 5-10 วินาที

  • ท่าที่ 3

ท่าบริหารออฟฟิศซินโดรมท่านี้ ให้คุณนำมือประสานและเหยียดแขนทั้งสองข้างออกไปตรงๆ จากนั้นพยายามก้มตัวไปด้านหน้าให้เยอะๆ และค้างไว้ประมาณ 3 วินาที และคลายออก จากนั้นทำซ้ำอีกประมาณ 5 ครั้ง

  • ท่าที่ 4

ให้คุณนำขาข้างใดข้างหนึ่งพาดไว้บนขาอีกข้างคล้ายคลึงกับเลขสี่ จากนั้นก้มตัวมาข้างหน้า ทำค้างเอาไว้ประมาณ 3 วินาที ประมาณ 3-5 ครั้ง จากนั้นให้ทำการเปลี่ยนข้างและทำซ้ำดังเดิม

  • ท่าที่ 5

ในท่านี้ ให้คุณนั่งหลังตรง นำขาลงแตะพื้นทั้งสองข้าง จากนั้นให้คุณยกปลายเท้าขึ้นโดยส้นเท้ายังแตะพื้นอยู่ ต่อมาวางปลายเท้าลงและเปลี่ยนไปยกส้นเท้าขึ้น ทำซ้ำประมาณ 10-30 ครั้ง

  • ท่าที่ 6

ท่าต่อมา ให้คุณยกแขนขึ้น และงอข้อศอกประมาณ 90 องศา หันข้างไปฝั่งตรงข้ามกับแขนที่ถูกยกขึ้น จากนั้นหมุนไหล่ไปทางด้านหลังคล้ายคลึงกับรูปวงกลม



การป้องกันออฟฟิศซินโดรม


หากคุณยังไม่มีอาการเริ่มต้นของออฟฟิศซินโดรม คุณสามารถป้องกันการเกิดโรคออฟฟิศซินโดรมได้ จากการทำสิ่งเหล่านี้

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และถูกหลักวิธี ไม่หักโหมจนเกินไป

  • ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นระดับความสูงของโต๊ะที่ต้องสัมพันธ์กับเก้าอี้ ระดับการมองหน้าจอคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น จากการนั่งอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน อาจเปลี่ยนเป็นการกำหนดระยะเวลาให้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนท่าทาง หรือเหยียดกล้ามเนื้อส่วนต่างๆเป็นระยะ เพื่อลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ

  • หาอุปกรณ์ที่ช่วยซัพพอร์ตบริเวณหลัง เช่น หมอนรองหลัง

  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ เพื่อทำให้ร่างกายไม่เกิดการขาดสารอาหารหรือวิตามินต่างๆที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย


สรุป


สรุปแล้ว โรคออฟฟิศซินโดรม คือ โรคที่ผู้คนมักจะเป็นกันบ่อยๆ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงานอยู่กับหน้าจอในท่าทางเดิมเป็นเวลานาน หรือผู้ที่ใช้กล้ามเนื้อบางส่วนอย่างหนักเป็นประจำ โดยคนที่เป็นออฟฟิศซินโดรมอาการจะมีลักษณะปวดเรื้อรัง ตาพร่า ตาแห้ง มีอาการเหน็บชาตามบริเวณต่างๆ ซึ่งก่อนที่จะเป็นโรค มักจะมีสัญญาณเตือนออฟฟิศซินโดรมนำมาก่อน


แน่นอนว่า เราสามารถใช้วิธีแก้ออฟฟิศซินโดรมในเบื้องต้นได้ เช่น การออกกำลังกาย โยคะแก้ออฟฟิศซินโดรม หรือการทำท่าบริหารออฟฟิศซินโดรม ตามที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้นก็ย่อมได้ ซึ่งถ้าหากปล่อยไว้จนอาการเรื้อรัง โรคออฟฟิศซินโดรมรักษาได้หลากหลายศาสตร์ หนึ่งในศาสตร์ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน คือ การกายภาพบำบัดออฟฟิศซินโดรม


ทางสรีรารัก ขอแนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเป็นออฟฟิศซินโดรม หมั่นสังเกตอาการและปรับพฤติกรรมการทำงานของตนเองให้ถูกวิธี เพื่อลดโอกาสในการเกิดอาการบาดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อ หรือเกิดการอักเสบขึ้น และหากมีอาการปวดเมื่อยเรื้อรัง สามารถรักษาตรงจุดได้ที่ สรีรารัก เราพร้อมให้บริการและให้คำแนะนำสำหรับคุณ



Comments


Featured Posts
Recent Posts
Search By Tags
bottom of page