โรคหลอดเลือดสมอง หรือ สโตรก (Stroke) เกิดจากอะไร รักษาวิธีไหนดี
โรคหลอดเลือดสมอง คืออะไร
โรคหลอดเลือดสมอง หรือ สโตรก คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดอุดตันหรือหลอดเลือดแตก ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้ เนื้อสมองถูกทำลาย สมองสูญเสียการทำงานไปและอาจทำให้เนื้อสมองตายได้ ความรุนแรงของโรคหลอดเลือดสมองขึ้นอยู่กับตำแหน่งของสมองที่ถูกทำลาย บางคนปากเบี้ยว แขนอ่อนแรง บางคนอ่อนแรงทั้งแขนและขาซีกเดี่ยวกัน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของสมองที่ลูกทำลายไปโดนส่วนที่ใช้ในการควบคุมอวัยวะส่วนไหนของร่างกายอวัยวะนั้นก็จะสูญเสียการทำงานไป
สโตรก พบบ่อยเพศชายมากกว่าเพศหญิงและในผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ และโรคซิฟิลิส เป็นต้น ซึ่งโรคประจำตัวเหล่านี้จะเป็นปัจจัยหนึ่งในการแข็งตัวของลิ่มเลือดหรือการแตกของหลอดเลือดสมองได้
หากพบว่าเริ่มมีอาการ ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดไม่ได้หรือไม่สามารถเข้าใจคำพูดของคนอื่น แขนขาอ่อนแรง ชาบริเวณหน้า แขน ขา ปวดศีรษะแบบรุนแรง ควรนำตัวผู้ป่วยพบแพทย์ทันที
ทางโรงพยาบาลจะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบหลอดเลือดสมองจะช่วยเหลือผู้ป่วยให้พ้นระยะอันตรายและสามารถฟื้นฟูด้านร่างกายของผู้ป่วยหลอดเลือดสมองได้
สาเหตุโรคหลอดเลือดสมอง
ภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Ischemic Stroke)
ภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Ischemic Stroke) ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีภาวะหลอดเลือดสมองตีบตัน เกิดจากการมีลิ่มเลือดที่อาจเกิดขึ้นในบริเวณอื่นไหลไปตามกระแสเลือดขึ้นไปบนบริเวณหลอดเลือดสมอง และอาจจะเกิดจากการก่อตัวกันเป็นลิ่มเลือดบนหลอดเลือดสมองนั้นเลยก็ได้ หรือการมีภาวะสะสมไขมันในหลอดเลือดสมองจำนวนมากทำให้เกิดการอุดตันตีบแคบลง
ภาวะหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic Stroke)
ภาวะหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic) เกิดจากการเปราะบางของหลอดเลือดสมองร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้บริเวณที่เปราะบางนั้นโป่งพองมากจนทำให้แตกออก และอาจเกิดจากการสะสมไขมันหลอดเลือดสมองทำให้สูญเสียความยืดหยุ่นของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดปริแตกได้ง่าย
ภาวะสมองขาดเลือดชั่วขณะ
ภาวะสมองขาดเลือดชั่วขณะ (Transient ischemic attack) คือ อาการโรคหลอดเลือดสมอง แต่เป็นไม่นานสมองขาดเลือดไปเลี้ยง จะมีอาการแล้วอาการจะค่อยๆดีขึ้นและหายได้เอง สาเหตุเกิดจากสมองมีเลือดไปเลี้ยงไม่พอเป็นระยะเวลาชั่วขณะ เพียง 2-3 วินาทีเท่านั้น ส่วนใหญ่จะมีอาการ 5-15 นาทีแล้วอาการจะเริ่มดีขึ้นเอง แต่อย่างไรก็ตามหากพบว่าผู้ป่วยมีอาการควรพบแพทย์ทันที เพราะเป็นสัญญาณเตือนภาวะการขาดเลือดไปเลี้ยงของหลอดเลือดสมองได้ และนำไปสู่ สโตรก ได้ค่ะ
อาการโรคหลอดเลือดสมอง
ควรพบแพทย์ทันทีหากมีอาการคล้ายคลึงกับโรคหลอดเลือดสมอง และภาวะสมองขาดเลือด
ชั่วขณะหรือมีอาการ เป็นๆ หายๆผู้ป่วยควรปฏิบัติตามแนวทางของ “ F A S T ”
F (Face) ใบหน้า ให้พยายามยิ้มเห็นฟัน ฉีกมุมมากให้กว้างที่สุดเท่าที่ทำได้และสังเกตมุมปากทั้งสองข้างว่าเท่ากันหรือไม่
A (Arm) แขน ให้พยายามยกแขนขึ้นเหนือศีรษะทั้งสองข้างแล้วสังเกตว่าแขนข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง ยกได้เท่ากันหรือไม่
S (Speech) คำพูด ให้ถามคำถามง่ายๆที่ผู้ป่วยน่าจะตอบได้ ฟังน้ำเสียงและความหมาย ว่าพูดชัดหรือไม่ชัดและตอบถูกหรือไม่
T (Time) ระยะเวลา หากตรวจแล้วพบอาการผิดปกติ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นาน ให้นับจากเวลาผู้ป่วยมีอาการปกติเป็นครั้งสุดท้ายแล้วควรรีบมาโรงพยาบาลให้ทันภายใน 4 ชั่วโมง หากมีภาวะสโตรกแฝงอยู่จริงบางกรณีแพทย์อาจจะพิจารณาให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ ซึ่งจะช่วยให้หลอดเลือดสมองกลับมาทำงานไ้ด้อย่างปกติ บางคนก็จะสามารถกลับมาเดินได้เป็นปกติ
การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมอง
หลังจากที่ผู้ป่วยถึงโรงพยาบาล แพทย์จะทำการตรวจผู้ป่วยด้วย CT Scan หรือ MRI และแพทย์จะทำการวินิจฉัยแยกโรคที่มีอาการใกล้เคียงอย่าง เช่น เนื้องอกในสมอง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นต้น และตรวจด้วยวิธีอื่นๆ
การซักประวัติ แพทย์จะซักประวัติการรักษา อาการ โรคประจำตัว และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ
การตรวจร่างกายทางระบบประสาท
แพทย์จะให้ยกแขน ยกขา ออกแรงต้านเพื่อดูกำลังกล้ามเนื้อของร่างกายทั้งสองด้าน และตรวจเส้นประสาทรับความรู้สึกตามแขนขาทั้งสองข้าง
การตรวจเลือด เพื่อดูลิ่มเลือดและค่าไขมันในเลือด
การตรวจ CT Scan หรือ MRI เพื่อดูว่าสมองเกิดภาวะการขาดเลือดหรือเลือดออกในสมองหรือไม่
ภาวะแทรกซ้อนจากโรคหลอดเลือดสมอง
โรคหลอดเลือดสมองสามารถส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนแก่ตัวผู้ป่วยได้ ซึ่งอาจจะเป็นภาวะที่เกิดขขึ้นชั่วคราวหรือถาวรได้เลยค่ะ
อัมพาต ผู้ป่วยอาจจะเกิดอัมพาตส่วนใดส่วนหนึ่งบนร่างกาย หรือ ภาวะที่แขนขาอ่อนแรง กล้ามเนื้อใบหน้าขยับไม่ได้ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้อย่างปกติ เกิดภาวะถดถอยของร่างกาย
ปัญหาการพูดและการกลืน จะมีปัญหาการพูดการกลืน หรือรับประทานอาหาร
สูญเสียความทรงจำ หรือปัญหาเกี่ยวกับสมอง
อารมณ์แปรปรวน และมักมีภาวะซึมเศร้า
เจ็บปวดหัวไหล่ แขน ขา หรือชา โดยเฉพาะส่วนที่ได้รับผลกระทบจากโรคหลอดเลือดสมอง เช่น หากโรคส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียความรู้สึกที่แขนด้านซ้าย บริเวณแขนซ้ายมักมีอาการเจ็บหัวไหล่ ข้อไหล่ซ้ายติดแข็งและปวดแปล๊บลงแขน
พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงและเกิดการทอดทิ้งตัวเอง(Self-neglect) เมื่อผู้ป่วยเริ่มรู้สึกว่าตนเองไม่เหมือนเดิม ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้อย่างปกติ ต้องนั่งรถเข็ญ ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือต่างๆ ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า ท้อแท้ หมดหวัง จึงอยากปลีกตัวออกจากสังคม
กายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูอาการหลอดเลือดสมอง
การดูแลร่างกายควบคู่กับการกายภาพ
หลังจากได้รับการรักษาทางการแพทย์จนอาการของผู้ป่วยคงที่แล้ว ส่วนใหญ่ผู้ป่วยหลอดเลือดสมองจะยังคงมีภาวะสูญเสียการควบคุมแขนขาซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย การพูด การกลืน และมีอารมณ์แปรปรวน บางรายอาจจะสูญเสียความทรงจำและมีความคิดที่ผิดแปลกไป โดยอาการแสดงมากน้อยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของพยาธิสภาพและรอยโรคของผู้ป่วย ซึ่งปัญหาเหล่านี้มีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องได้รับการแก้ไขด้วยการทำ กายภาพบำบัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน การได้รับการทำกายภาพบำบัดได้รวดเร็วจะส่งผลให้ผู้ป่วยหลอดเลือดสมองเหลือความพิการน้อยลง บางรายสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันด้วยตัวเองได้ใกล้เคียงปกติ
กายภาพบําบัดผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง จะเป็นการรักษาโดยการดูแลร่างกาย ฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายของผู้ป่วยในส่วนที่สูญเสียการควบคุมหรืออ่อนแรง ให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตประจำวันให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดการเป็นภาระของครอบครัวและสังคม โดยจะเน้นการฝึกการควบคุมกล้ามเนื้อ กำลังกล้ามเนื้อ ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ และนักกายภาพบำบัดจะวิเคราะห์จุดบกพร่องของผู้ป่วย เช่น การเคลื่อนย้ายตัวบนเตียง การนั่ง การยืน และการเดินเพื่อนำมาวางแผนการรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยในแต่ละคนก็จะมีจุดที่นักกายภาพต้องแก้ไขแตกต่างกันออกไป
การรักษากายภาพบำบัดโรคหลอดเลือดสมอง นักกายภาพวิเคราะห์สมรรถภาพของผู้ป่วยว่ามีความสามารถอยู่ในระดับไหน ต้องเสริมจุดบกพร่องอะไร ขาดการทำงานของกล้ามเนื้อมัดไหน และนำมาวางแผนการรักษาแบบระยะยาวจนกว่าผู้ป่วยจะสามารถกลับปกติหรือใกล้เคียงปกติมากที่สุดโดยการใช้เทคนิคการรักษา การช่วยขยับข้อต่อเพื่อป้องกันข้อติด การกระตุ้นการออกกำลังกายเพื่อกล้ามเนื้อมีกำลังมากขึ้น การฝึกการทรงตัว รวมถึงการใช้งานแขนขาในชีวิตประจำวัน หากพบว่ามีปัญหาเรื่องอาการปวดและกล้ามเเนื้อเกร็ง จะใช้เครื่องมือกายภาพบำบัดช่วย เช่น เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า เครื่องอัลตร้าซาวด์ และอุปกรณ์กายภาพบำบัดอื่นๆ อีกมากมายที่นักกายภาพสามารถนำมาช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยได้ ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย
อุปกรณ์และความพร้อมของสรีรารัก พร้อมดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
หากกำลังมองหาว่า กายภาพบำบัดที่ไหนดี สรีรารักเรามีพื้นที่ในการเทรนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองโดยเฉพาะ และนักกายภาพกายภาพผู้เชี่ยวชาญระบบระบบและสมอง ช่วยวิเคราะห์อาการผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ออกแบบการรักษาเฉพาะบุคคลและวางแผนการรักษาจนผู้ป่วยสามารถกลับมาใกล้เคียงปกติมากที่สุดค่ะ
และยังมีเครื่องมือ อุปกรณ์ ที่ใช้สำหรับการเทรนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองโดยเฉพาะ นักกายภาพจะดูแลและใกล้ชิดกับผู้ป่วยตลอดเวลาค่ะ เราจะเน้นการฝึกกล้ามเนื้อและลดอาการปวดไปด้วยกัน ขั้นตอนการรักษาผู้ป่วยหลอดเลือดสมองเราจะมีการใช้เครื่องมือกายภาพบำบัดช่วยลดปวด ลดเกร็ง กล้ามเนื้อเพื่อเตรียมความพร้อมในการเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อทีมนักกายภาพจะช่วยวิเคราะห์ผู้ป่วยในแต่ละรายโดยละเอียดและวางแผนการรักษาตั้งแต่ช่วงแรกของการฟื้นฟูจนผู้ป่วยสามารถกลับมาช่วยเหลือตัวเองได้มากที่สุด
Comentários