เทคนิคทำ กายภาพบำบัดกระดูกสะโพกหัก ในผู้สูงอายุ ทำให้ฟื้นฟูร่างกายได้เร็ว กลับมาเดินไหวแน่นอน
เคยไหม? ที่ผู้สูงอายุเดินอยู่แล้วหกล้มภายในบ้าน พอจะพาไปรักษากลับบอกว่าไม่เป็นไร หกล้มเพียงเล็กน้อย พักสักครู่คงหายดี คนถามก็คิดว่าคงไม่มีอะไรมาก เลยไม่ได้รีบพาไปตรวจเช็คร่างกายให้ดี แต่พอเวลาผ่านไป ผู้สูงอายุกลับมีอาการปวดสะโพกหนักมากขึ้น จนไม่สามารถลุกยืนลงน้ำหนักได้เหมือนปกติ
รู้หรือไม่? การหกล้มก้นกระแทกธรรมดา หรืออุบัติเหตุอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุทางรถยนต์ เนื้องอก หรือการติดเชื้อในกระดูก สิ่งเหล่านี้ที่มักจะเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ อาจนำไปสู่การเกิด “กระดูกสะโพกหัก” และหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆตามมาได้
แล้วแบบนี้ “กระดูกสะโพกหัก”มีอาการเป็นอย่างไร? การรักษา การพยาบาลทำยังไงได้บ้าง? ต้องใช้เวลากี่เดือน? สามารถทำกายภาพบำบัดกระดูกสะโพกหักได้หรือไม่ บทความนี้มีคำตอบให้คุณได้อย่างแน่นอน
กระดูกสะโพกหัก คืออะไร
กระดูกสะโพกหัก คือ การที่บุคคลนั้น เกิดการแตกหักขึ้นที่บริเวณกระดูกต้นขาในส่วนที่มีการเชื่อมต่อกับกระดูกเชิงกราน ซึ่งมักพบได้บ่อยๆในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือคนที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากกระดูกมีความหนาแน่นลดลง จนทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ถึงแม้ไม่รุนแรงมาก ก็อาจทำให้เกิดการกระดูกหักได้
ทั้งนี้ การกระดูกสะโพกหัก ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแต่ผู้สูงอายุ หรือคนที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเพศชาย และเพศหญิง รวมไปจนถึงปัจจัยต่างๆอีกมากมาย ที่ส่งผลให้เกิดกระดูกสะโพกหักได้
กระดูกสะโพกหัก เกิดขึ้นได้อย่างไร
หลายๆคนคงสงสัยว่า แล้วแบบนี้ “กระดูกสะโพกหัก” เกิดขึ้นได้อย่างไร? ในความเป็นจริงแล้ว กระดูกสะโพกหัก มักเกิดขึ้นได้จากการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง ส่วนใหญ่พบว่าเป็นอุบัติเหตุภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการลื่นล้มในห้องน้ำ การตกเก้าอี้ การสะดุดล้มลงบนพื้นแข็ง ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังสามารถเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่นๆที่มีความรุนแรงได้ ไม่ว่าจะเป็น การเกิดอุบัติเหตุจนสะโพกได้รับบาดเจ็บ เกิดภาวะหรือเป็นโรคทางร่างกาย ที่ทำให้มวลกระดูกมีความหนาแน่นลดลง หรือสูญเสียเนื้อเยื่อกระดูกไป อย่างเช่น การเป็นโรคกระดูกพรุน และบุคคลที่มีน้ำหนักตัวมากจนเกินไปหรือเป็นโรคอ้วน ก็มีโอกาสที่น้ำหนักจะไปกดลงตรงกระดูกสะโพกมากจนเกินไปอีกด้วย
การพยาบาลผู้ป่วยกระดูกสะโพกหัก
กรณีที่กระดูกสะโพกหักเกิดขึ้นแล้ว เราสามารถให้การดูแลพยาบาลผู้ป่วยกระดูกสะโพกหัก ทั้งระยะก่อนการรักษาและหลังการรักษาได้เบื้องต้น ดังนี้
อธิบายแต่ละรูปแบบการรักษาเบื้องต้น เพื่อให้ผู้ป่วยทราบถึงรูปแบบการรักษาที่ถูกเลือกโดยแพทย์มาแล้วว่ามีความเหมาะสม เช่น การรักษาแบบผ่าตัด หรือ แบบไม่ผ่าตัด
จัดสถานที่ต่างๆภายในบ้านให้เป็นสัดส่วน ไม่กีดขวางทางเดิน เพื่อป้องกันการล้มหรือหักซ้ำ
พื้นเรียบจะต้องมีความเหนียวในระดับหนึ่ง ไม่ลื่นจนเกินไป
อาจให้อุปกรณ์ที่ช่วยซัพพอร์ตหรือช่วยจับในการลุกเดินหรือทำกิจกรรมต่างๆแก่ผู้ป่วย
พื้นที่ในแต่ละส่วนภายในบ้าน เช่น ห้องน้ำ ควรมีราวยึดจับให้ผู้ป่วยใช้ได้อย่างเพียงพอ
หากมีงบประมาณเพียงพอ ควรเปลี่ยนเป็นประตูบานเลื่อน เพื่อความสะดวกของผู้ป่วย
หากในห้องน้ำ มีลักษณะเป็นโถสุขภัณฑ์แบบคอห่าน ควรมีที่นั่งเสริม หรือเปลี่ยนรูปแบบเป็นชักโครก
สังเกตพฤติกรรมของผู้ป่วยและหลีกเลี่ยงท่านั่งที่งอข้อสะโพกมากเกินไป เช่น การนั่งยองๆ การนั่งไขว้ขา หรือนั่งพับเพียบ เป็นต้น
ให้ผู้ป่วยทำกายภาพบำบัด เพื่อฟื้นฟูร่างกาย
ดูแลเรื่องการรับประทานอาหาร ให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่
ดูแลสภาพจิตใจของผู้ป่วย และฝึกเทคนิคการผ่อนคลายให้กับผู้ป่วย
ระมัดระวังเรื่องของการเกิดแผลกดทับ โดยการให้ผู้ป่วยเปลี่ยนท่าบ่อยๆ ทุก 2 ชั่วโมง
หากผู้ดูแลพบความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นกับผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นการมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดบวมแดง ฯลฯ ควรรีบพาเข้าพบแพทย์โดยเร็ว
กระดูกสะโพกหัก มักเกิดขึ้นกับใคร
ถึงแม้ว่า กระดูกสะโพกหักจะสามารถเกิดขึ้นได้ ทั้งเพศชายและเพศหญิง ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักตัวมากจนเกินไปหรือผู้ที่เป็นโรคอ้วน ผู้ที่เป็นโรคที่ทำให้กระดูกมีความหนาแน่นน้อยลง พรุนบาง หรือผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน
แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว มักพบได้มากในกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะเมื่ออายุมากขึ้น จะทำให้เกิดภาวะกระดูกบาง กระดูกพรุนขึ้น หรือการขาดสารอาหาร เช่น ปริมาณแคลเซียมไม่เพียงพอ รวมไปจนถึงเรื่องของปัญหาสายตา การทรงตัว ทำให้มีโอกาสสูงที่จะเกิดการล้มและกระดูกสะโพกหักได้ง่าย
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้กระดูกสะโพกหัก
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดกระดูกสะโพกหักมีมากมาย ดังนี้
ผู้ที่มีการดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่หนัก หรือเป็นประจำ
ผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน
คนที่ไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือไม่ออกกำลังกาย
บุคคลที่เคยมีประวัติกระดูกสะโพกหัก จะทำให้มีโอกาสที่เกิดการหักซ้ำได้
อายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะบุคคลที่อายุ 60 ปีขึ้นไป จะทำให้เริ่มมีความเสื่อมต่างๆตามวัยมากขึ้น
การมีโรคประจำตัวเรื้อรัง หรือโรคทางกระดูกต่างๆก็ทำให้มีโอกาสเกิดกระดูกสะโพกหักได้
กระดูกสะโพกหักอาจเกิดจากการรับประทานยาบางชนิดเป็นประจำ เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาหม้อ ยาลูกกลอน
ผู้ที่เกิดภาวะขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อกระดูก เช่น โปรตีน แคลเซียม และวิตามินดี
ปัจจัยภายนอก เช่น พื้นผิวที่อยู่อาศัย ขั้นบันได ฯลฯ ที่อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ
แนวทางการป้องกัน กระดูกสะโพกหัก
ถึงแม้ว่า “กระดูกสะโพกหัก” จะเป็นอะไรที่น่ากลัว และอันตราย แต่เรายังสามารถป้องกัน และลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ จากวิธีดังต่อไปนี้
ออกกำลังกายประเภทที่มีการลงน้ำหนักอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดิน การวิ่ง ฝึกความแข็งแรงกล้ามเนื้อ
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะสารอาหารที่เกี่ยวข้องกับกระดูก หรืออาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม ผักใบเขียว ปลาตัวเล็กๆที่สามารถกินได้ทั้งกระดูก
งดหรือหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่หนัก
ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน หรือผู้สูงอายุ ควรเข้ารับการตรวจความหนาแน่นของกระดูกเป็นประจำ และหากพบว่ามีภาวะกระดูกพรุน หรือกระดูกบาง ควรทำการรักษาก่อนสายเกินไป
ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมภายในบ้านและรอบๆบ้านให้มีความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความสว่าง พื้นผิวที่ไม่ควรลื่น พื้นที่ต่างระดับ ลักษณะการวางของต่างๆ
ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากจนเกินไป หรือมากกว่าวันละ 2 แก้ว เช่น ชา กาแฟ เพราะอาจเป็นการเร่งขับแคลเซียมในร่างกายออกไปได้
ยาบางชนิดหากทานอย่างต่อเนื่องอาจทำให้มวลกระดูกลดลงได้ เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาหม้อ ยาลูกกลอน
ตรวจสุขภาพการมองเห็น เพื่อป้องกันการหกล้มที่อาจนำมาสู่การเกิดกระดูกสะโพกหักได้
กระดูกสะโพกหัก มีอาการอย่างไร
เราสามารถตรวจเช็คตนเองและผู้สูงอายุได้เบื้องต้น จากลักษณะอาการกระดูกสะโพกหัก ได้ดังนี้
กระดูกสะโพกหักอาการที่พบจะมีลักษณะปวดสะโพก ขาหนีบ มีอาการบวม เกิดรอยฟกช้ำที่บริเวณนั้น ขาข้างที่สะโพกหัก จะไม่อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม อาจมีขนาดสั้นกว่าขาข้างที่กระดูกสะโพกปกติ และมีอาการเดินไม่สะดวก หรือไม่สามารถทิ้งน้ำหนักตัวลงในข้างที่กระดูกสะโพกหักได้
กรณีที่ผู้เกิดอุบัติเหตุ ล้มแล้วนอนอยู่ที่พื้น ไม่สามารถลุกขึ้นมาได้ หรือหากพยายามจะลุกขึ้นยืนแล้วมีอาการปวดมาก ก็อาจจะมีความผิดปกติเกิดขึ้นที่บริเวณกระดูกสะโพก ให้ผู้ที่พบเห็นโทรเรียกรถพยาบาลโดยเร็ว และอย่าเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเอง
ส่วนกรณีที่ผู้เกิดอุบัติเหตุล้มแล้วกระดูกสะโพกหัก แต่กระดูกไม่ได้เคลื่อนที่ออกจากกัน ก็อาจจะทำให้บุคคลนั้น ยังคงสามารถค่อยๆเดินได้ หากมีการลงน้ำหนัก ก็จะทำให้เกิดอาการเจ็บหรือปวดสะโพกเป็นระยะเวลานานแล้วยังไม่สามารถหายหรือดีขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม หากตรวจสอบแล้วพบว่า มีอาการที่เข้าข่ายลักษณะดังกล่าว ควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการซักประวัติและวินิจฉัย เพื่อจะได้ทำการรักษาด้วยวิธีต่างๆต่อไป
การรักษา กระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ
ในปัจจุบัน มักจะแบ่งการรักษาออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่
1. การรักษาแบบไม่ผ่าตัด
การรักษาแบบไม่ผ่าตัด เหมาะกับบุคคลที่แพทย์ทำการวินิจฉัยแล้วว่า ไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดได้ เนื่องจากมีภาวะแทรกซ้อนที่มีความเสี่ยงจนเกินไป หรือกรณีที่กำลังรอการผ่าตัด
ในรูปแบบนี้ กระดูกสะโพกหักรักษาด้วยวิธีการใช้น้ำหนักถ่วงดึงกระดูกแบบใส่เครื่องดึงให้ยึดติดกับผิวหนัง ประมาณ 2-3 กิโลกรัม เพื่อลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่ออ่อน และกระตุ้นการไหลเวียนเลือดให้ไปเลี้ยงที่บริเวณหัวกระดูกต้นขา
2. การรักษาแบบผ่าตัด
การรักษาแบบผ่าตัด เหมาะกับผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่า สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ ซึ่งจะต้องรีบเข้ารับการผ่าตัดภายใน 7 วัน หลังเกิดเหตุกระดูกสะโพกหักจึงจะดีที่สุด ซึ่งรูปแบบการผ่าตัด จะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่มีการแตกหัก ดังนี้
กรณีกระดูกต้นขาส่วนคอหัก จะใช้การผ่าตัดแบบเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดใช้ซีเมนต์ เหมาะกับผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุน และชนิดไม่ใช้ซีเมนต์ เหมาะกับผู้ที่กระดูกสะโพกหักแต่อายุน้อย
กรณีที่ต้องการยึดตรึงให้กระดูกที่หักอยู่กับที่ชั่วคราว จะใช้การผ่าตัดยึดตรึงกระดูกภายใน โดยวิธีนี้ กระดูกสะโพกหักรักษาด้วยการใช้โลหะแบบพิเศษ ใส่เข้าไปในโพรงกระดูก หรือวางประกบด้านนอกกระดูก ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์
หากไม่เข้ารับการรักษากระดูกสะโพกหัก อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ไม่ว่าจะเป็นการเกิดแผลกดทับ เนื่องจากต้องอยู่ท่าเดิมเป็นเวลานานๆ เกิดโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ มีอาการท้องผูก ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ มีโอกาสที่จะเกิดอาการกำเริบได้ ซึ่งอันตรายเป็นอย่างมาก
กายภาพบำบัดกระดูกสะโพกหัก
แน่นอนว่า หลังจากกระดูกสะโพกหักรักษาเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนถัดไปที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก นั่นคือ “การทำกายภาพบำบัดกระดูกสะโพกหัก” นั่นเอง
การทำกายภาพบำบัดกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ นักกายภาพบำบัดจะสอนเรื่องของการพยาบาลผู้ป่วยกระดูกสะโพกหัก รวมไปจนถึงท่าบริหารสำหรับเพิ่มความแข็งแรงของข้อสะโพกให้แก่ตัวผู้ป่วยเองและผู้ดูแล
อีกทั้งในส่วนของผู้ป่วย นักกายภาพบำบัดจะมีการฝึกหายใจ(Breathing exercise) เพื่อบริหารปอด สอนท่าทางการเคลื่อนไหวอย่างถูกวิธีในการทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในส่วนต่างๆ พร้อมกับการฝึกใช้
อุปกรณ์ที่ช่วยในการเดิน รวมไปจนถึงการกระดกข้อเท้าหลังตื่นนอนทุกครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันอีกด้วย
การฟื้นฟู ผู้ป่วยกระดูกสะโพกหัก
ระยะสุดท้าย ช่วงระยะเวลาประมาณ 4-8 สัปดาห์หลังการผ่าตัดกระดูกสะโพกหัก นักกายภาพบำบัดจะเน้นเรื่องของการเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อรอบสะโพกและขา ฝึกการทรงตัว เพื่อป้องกันการหกล้มและเกิดกระดูกสะโพกหักซ้ำได้
อีกทั้ง ยังมีข้อควรระวังต่างๆสำหรับผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักในการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนี้
ห้ามนั่งยอง นั่งพับเพียบ ห้ามไขว้ขา ขณะที่นอน นั่ง หรือยืน
ห้ามงอสะโพกเกิน 90 องศา เนื่องจากอาจเกิดการเคลื่อนหลุดของข้อสะโพกเทียมได้
หลีกเลี่ยงการนั่งเก้าอี้เตี้ย และเก้าอี้ที่ไม่มีที่วางแขน
หลีกเลี่ยงการโน้มตัวก้มเก็บของที่พื้น
ไม่ควรวิ่งหรือกระโดด เพราะอาจทำให้ข้อสะโพกหลุดได้
หากข้อสะโพกยังไม่แข็งแรงดี ควรใช้อุปกรณ์ที่ช่วยในการเดิน เพื่อป้องกันการหกล้มซ้ำ
ท่าบริหาร สำหรับผู้ป่วยกระดูกสะโพกหัก
แน่นอนว่า สิ่งสำคัญที่ขาดไปไม่ได้เลย สำหรับการกายภาพบำบัดกระดูกสะโพกหัก ก็คือ “ท่าบริหารสำหรับผู้ป่วยกระดูกสะโพกหัก” ดังนั้น ทางสรีรารัก คลินิกกายภาพบำบัด จึงได้ทำการรวบรวมท่าบริหารดีๆ ที่ทำได้ไม่ยากมาฝากทุกๆคนกัน ถ้าพร้อมแล้วก็ไปดูพร้อมๆกันได้เลย
1. ท่ากระดกข้อเท้า
ท่านี้เป็นท่าที่ง่ายและได้ประโยชน์มาก เราสามารถออกกำลังกายโดยการกระดกข้อเท้าขึ้นลง และบิดข้อเท้าเข้าออก ท่าละประมาณ 10-20 ครั้งต่อรอบ เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน และป้องกันขาบวมได้
2. ท่าเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเข่าและสะโพก
ท่านี้จะเน้นเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเข่าและสะโพกเป็นหลัก โดยเริ่มจากการที่คุณนอนหงาย จากนั้นนำผ้าขนหนูมาม้วนและรองไว้ที่ใต้เข่า วางขาตรงระนาบเดียวกับพื้นผิว จากนั้นออกแรงที่เข่าในข้างที่ต้องการออกกำลังกายลงบนผ้าขนหนูตรงๆ เกร็งกล้ามเนื้อต้นขาค้างไว้ ประมาณ 5-10 วินาที
3. ท่าเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อขา
ท่าเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อขา จะมีอยู่ 2 ท่า โดยในท่าแรก ให้คุณนอนหงาย วางเท้าตรง จากนั้นให้งอขาข้างที่ต้องการออกกำลังกาย ดึงส้นเท้าเข้าหาสะโพก โดยให้ส้นเท้าลอยเหนือพื้นเล็กน้อย ลากดึงเข้าและดึงออก 15-20 ครั้งต่อรอบ และห้ามงอข้อสะโพกเกิน 90 องศา
ท่าที่สอง ให้คุณนอนหงาย นำขาข้างที่ไม่ได้ออกกำลังกายชันเข่าขึ้น ส่วนขาอีกข้างที่ต้องการออกกำลังกายให้วางขาตรง และยกขาโดยไม่งอเข่าขึ้นสูงระดับเทียบเท่ากับขาข้างที่ชันเข่า จากนั้นวางลงราบกับพื้นเช่นเคย ทำประมาณ 15-20 ครั้งต่อรอบ
4. ท่าบริหารกล้ามเนื้อต้นขาและน่อง
ท่านี้อาจต้องใช้อุปกรณ์สักหน่อย ให้คุณยืนลำตัวตรง ใช้เก้าอี้หรืออุปกรณ์ที่มีความมั่นคงเป็นที่จับเพื่อช่วยยึดในการทรงตัว จากนั้นค่อยๆใช้ปลายเท้าเขย่งขึ้น ค้างไว้ และค่อยๆลดส้นเท้าลงช้าๆ
5. ท่ามินิสควอท(Mini-squat)
ท่ามินิสควอท ให้คุณหาผนังวางๆที่บ้านสักด้านหนึ่ง ยืนตัวตรงให้หลังและสะโพกแนบชิดกับผนังบ้าน จากนั้นนำขาออกมาประมาณ 1 ก้าว ย่อเข่าลงเล็กน้อยประมาณ 30 องศา หรือ 1 ฝ่ามือ เกร็งกล้ามเนื้อค้างไว้ประมาณ 5-10 วินาที ทำซ้ำประมาณ 10-20 ครั้งต่อรอบ
6. ท่านอนตะแคง
ท่านอนตะแคง เหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี หลังผ่าตัดมาแล้วอย่างน้อย 2 เดือน ซึ่งวิธีการทำก็คือ ให้คุณนอนตะแคงข้างโดยการนำข้างที่ได้รับการผ่าตัดอยู่ด้านบน จากนั้นนำหมอนสอดระหว่างขาทั้งสองข้าง ยกขาด้านบนขึ้นตรงในแนวดิ่ง และค่อยๆวางลงกลับสู่ที่เดิม
7. ท่ากล้ามเนื้องอเข่า
ท่ากล้ามเนื้องอเข่า เหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุไม่เกิน 50 ปี หลังผ่าตัดมาแล้วอย่างน้อย 1 เดือน ซึ่งวิธีการทำก็คือ ให้คุณนอนคว่ำตัวระนาบเดียวกับพื้น ขาตรง จากนั้นให้งอเข่าเพื่อยกเท้าให้อยู่เหนือพื้น ทำซ้ำ 20 ครั้ง
คำถามที่พบบ่อย เกี่ยวกับ ‘กระดูกสะโพกหัก’ และ กายภาพบำบัดกระดูกสะโพกหัก
กระดูกสะโพกหักใช้เวลากี่เดือน ถึงจะหาย
ปกติแล้ว ระยะเวลาในการฟื้นตัว จนแผลผ่าตัดสมานหายสนิทได้ จะอยู่ที่ประมาณ 3 เดือน ทั้งนี้ในบางรายที่หมั่นทำกายภาพบำบัดอย่างสม่ำเสมอ อาจสามารถเดินได้ก่อนถึง 3 เดือน
หลังจากทำการรักษาแล้วจะกลับมาเดินได้ปกติไหม
สามารถเดินได้คล้ายคลึงปกติ เพียงแต่หลังจากการรักษาเรียบร้อยแล้ว จะต้องเรียนรู้เรื่องของการเคลื่อนไหวที่ถูกวิธี อาจมีข้อห้ามหรือข้อควรระวังในบางท่าทาง มีการปรับเปลี่ยนท่าทางการใช้ชีวิตประจำวันบ้างเล็กน้อย เพื่อป้องกันข้อสะโพกเทียมเคลื่อนหลุด และป้องกันการหกล้มกระดูกสะโพกหักซ้ำนั่นเอง
กระดูกสะโพกหัก วัยรุ่น สามารถเกิดได้ไหม
ถึงแม้ว่า การกระดูกสะโพกหัก มักพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่อยู่ในวัยรุ่น ก็สามารถกระดูกสะโพกหักได้เช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดจากสาเหตุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของอุบัติเหตุทางรถยนต์ การบาดเจ็บจากเหตุการณ์อันตรายรุนแรง การเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูก หรือการเป็นเนื้องอกจนส่งผลให้กระดูกเกิดการเปราะบางแตกหักง่าย เป็นต้น
ข้อสรุป ‘กระดูกสะโพกหัก’
“กระดูกสะโพกหัก” เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ใครหลายๆคนไม่ควรชะล่าใจ โดยเฉพาะการกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ เพราะนอกจากจะส่งผลต่อร่างกายในการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ยังส่งผลต่อสภาพจิตใจได้อีกด้วย
ถึงแม้ว่าจะได้รับการรักษาแล้ว แต่ในการพยาบาลหรือกายภาพบำบัดกระดูกสะโพกหัก จำเป็นต้องมีผู้ดูแลในการคอยให้ความช่วยเหลือ หรือพามาพบนักกายภาพบำบัด เพื่อฟื้นฟูร่างกายอย่างถูกวิธีภายใต้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ จึงทำให้คำถามที่ว่า กระดูกสะโพกหักใช้เวลากี่เดือน? ไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจน เนื่องจากระยะเวลาการทำกายภาพกระดูกสะโพกหักของแต่ละคนอาจสม่ำเสมอไม่เท่ากัน
สุดท้ายนี้ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับคุณ ในแง่ของข้อมูลกระดูกสะโพกหักอาการ การรักษา รวมไปจนถึงเรื่องของกระดูกสะโพกหักไม่ผ่าตัด กับผ่าตัดเป็นอย่างไร? และรวมท่าบริหารดีๆที่คุณและผู้สูงอายุที่คุณรัก สามารถช่วยกันทำได้ง่ายๆที่บ้าน
Comments